เครื่องสำอางผสมสารห้ามใช้ อันตรายกว่าที่คุณคิด
ในปัจจุบันเครื่องสำอางที่ช่วยให้ใบหน้าขาวเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเครื่องสำอางดังกล่าวเป็นเครื่องสำอางทั่วไป จึงยังไม่มีการควบคุมการใช้สารสำคัญ ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ที่ช่วยทำให้ใบหน้าขาวขึ้น จากข้อมูลผลวิเคราะห์พบว่า มีการลักลอบใช้สารห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ช่วยให้ใบหน้าขาว ได้แก่ สารไฮโดรควิโนน, กรดเรทิโนอิก และปรอทแอมโมเนีย
สารไฮโดรควิโนน มีคุณสมบัติในการฟอกสีผิว (Skin bleaching agent) เป็นสารที่เคยอนุญาตให้ใช้ในครีมแก้ฝ้า แต่ภายหลังพบว่า สารไฮโดรควิโนน ทำให้เกิดการระคายเคืองและจุดด่างขาวที่หน้าผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวรรักษาไม่หาย (ochronosis หรือ defiguring effect)
นอกจากนี้พบว่า สารไฮโดรควิ-โนน มีความเป็นพิษ โดยมีค่า LD50 orally in rats เท่ากับ 320 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนู 1 กิโลกรัม พบว่ามีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ และก่อมะเร็งในหนู rat และ mice สามารถใช้เป็นสารออกฤทธิ์ในสูตรตำรับยาชนิดครีม ที่ระดับความเข้มข้น 2 - 4 % สารไฮโดรควิโนน ถูกกำหนดเป็นสารห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์สำหรับใบหน้า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535
กรดเรทิโนอิก เป็นสารที่ช่วยให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง และหลุดลอกได้ (peecling agent) จึงช่วยให้สิวเสี้ยนและผิวหนังที่หยาบกร้านหลุดลอกออกง่ายขึ้น ทำให้ผิวผ่องใสและนุ่มเนียน โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับสารไฮโดรควิโนน จะช่วยให้สารไฮโดรควิโนนซึมเข้าสู่ผิวหนังและออกฤทธิ์ได้มากกว่าปกติ
ความเป็นพิษ คือ ทำให้หน้าแดง และแสบร้อนรุนแรง เกิดการระคายเคืองอักเสบ แพ้แสงแดดหรือแสงไฟได้ง่าย เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ มีคุณสมบัติ teratogenesis มีค่า LD50 orally in rats เท่ากับ 2,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนู 1 กิโลกรัม กรดเรทิโนอิก ถูกกำหนดเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 และเป็นสารห้ามใช้ลำดับที่ 375 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 80 ง ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 กรดเรทิโนอิกสามารถใช้เป็นสารออกฤทธิ์ในสูตรตำรับยาชนิดครีมที่ระดับ ความเข้มข้น 0.01-0.1 %
ปรอทแอมโมเนีย ออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของเอนไซม์ tyrosinase ทำให้ลดการสร้างเม็ดสีผิวเมลานิน จึงช่วยให้ผิวขาวขึ้น ปรอทแอมโมเนีย มี ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ชนิด staphylococcus จึงป้องกันสิวได้ด้วย ปรอท แอมโมเนียสามารถทำลายไต ระบบประสาท เยื่อบุและทางเดินหายใจ การใช้ปรอทแอมโมเนียติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดพิษสะสมของสารปรอทในผิวหนัง และดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต ทำให้ตับและไตอักเสบ เกิดโรคโลหิตจาง ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ทำลายสีของผิวหนังและเล็บมือ ทำให้ผิวบางขึ้นเรื่อยๆ เกิดการแพ้หรือเป็นแผลเป็นได้
ความเป็นพิษเฉียบพลัน ค่า LD50 orally in rat เท่ากับ 86 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนู 1 กิโลกรัม ถูกกำหนดเป็นสารห้ามใช้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 และเป็นสารห้ามใช้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสม ในการผลิตเครื่องสำอาง ลำดับที่ 221 ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 80 ง ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 โดยกำหนดชื่อสารห้ามใช้ คือ “ ปรอท และสารประกอบของปรอท”
จากผลการตรวจวิเคราะห์ของกองเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ในปีงบประมาณ 2547 ถึง มิถุนายน 2551 พบว่า ตรวจพบสารห้ามใช้ร้อยละ 31 (157 จาก 501 ตัวอย่าง), ร้อยละ 23 (72 จาก 317 ตัวอย่าง), ร้อยละ 23 (92 จาก 405 ตัวอย่าง), ร้อยละ 28 (146 จาก 531 ตัวอย่าง) และ ร้อยละ 15.4 (76 จาก 493 ตัวอย่าง) ตามลำดับ
สารห้ามใช้ที่ตรวจพบมากที่สุด คือ ปรอทแอมโมเนีย โดยตรวจพบร้อยละของตัวอย่างที่ตรวจวิเคราะห์ทั้งหมด ดังนี้ ร้อยละ 14 (71 จาก 501 ตัวอย่าง), ร้อยละ 19.6 (62 จาก 317 ตัวอย่าง) ร้อยละ 10.6 (43 จาก 405 ตัวอย่าง), ร้อยละ 16.9 (90 จาก 531 ตัวอย่าง) และ ร้อยละ 8.5 (42 จาก 493 ตัวอย่าง) ตามลำดับ รองลงมาคือ ตรวจพบสารไฮโดรควิโนน รวมกับกรดเรทิโนอิก และพบตัวอย่างที่มี สารไฮโดรควิโนน หรือ กรดเรทิโนอิกอย่างเดียว รองลงมาตามลำดับ
จะเห็นว่าในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา ยังคงพบสารห้ามใช้ทั้ง 3 ชนิด โดยไม่ได้ลดจำนวนลงเลย ตามกฎหมายใหม่ด้านเครื่องสำอางของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายเครื่องสำอางอาเซียน กำหนดให้เครื่องสำอางทุกชนิดเป็นเครื่องสำอางควบคุม เป็นผลให้ผู้ประกอบการต้องแจ้งและจัดทำแฟ้มข้อมูลของผลิตภัณฑ์ต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก่อนผลิตหรือนำเข้า ซึ่งจะทำให้การติดตามกำกับดูแลได้อย่างครอบคลุม ช่วยแก้ปัญหาการใช้สารห้ามใช้ในเครื่องสำอางได้