การเลือกใช้เครื่องสำอางป้องกันแสงแดด
ผิวหนังเป็นอวัยวะที่ห่อหุ้ม ร่างกาย เมื่อได้รับแสงแดด เซลล์ผิวหนังจะสร้างเม็ดสี เมลานิน (melanin pigment) เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผิวหนังมีสีคล้ำขึ้น (tanning) และบางคนอาจเกิดปัญหาเป็นฝ้า ถ้าได้รับแสงแดดจัดมากอาจเกิดอาการแดง (erythrema) หรืออาการถูกแดดเผา (sunburn) นอกจากนี้รังสีอุลตร้าไวโอเลต หรือรังสียูวีในแสงแดดอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้
ดังนั้นในขณะที่แสงแดดจัดจึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง ควรใช้เครื่องสำอางที่ผสมสารป้องกันแสงแดดเพื่อช่วยป้องกันรังสียูวี เครื่องสำอางที่มีสารป้องกันแสงแดดที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดเป็นสารควบคุมรวม 29 ชนิด ซึ่งกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ด้วย ผู้ผลิตผู้นำเข้าต้องแจ้งรายละเอียดต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน ผลิตหรือนำเข้า และที่ฉลากจะมีข้อความ “เครื่องสำอางควบคุม” พร้อมชื่อและปริมาณสารป้องกันแสงแดดซึ่งเป็นสารควบคุมนั้น สำหรับเครื่องสำอางป้องกันแสงแดดที่มีสารป้องกันแสงแดดที่ไม่ได้เป็นสารควบคุมจะจัดเป็นเครื่องสำอางทั่วไป
โดยทั่วไปเครื่องสำอางป้องกันแสงแดดจะมีสารป้องกันแสงแดดหลายชนิด เพื่อให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณสมบัติป้องกันรังสียูวี ทั้งยูวีเอและยูวีบี ซึ่งมีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 320 - 400 นาโนเมตร และ 290 - 320 นาโนเมตรตามลำดับ ทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีค่าประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวี (Sun Protection Factor, SPF) แตกต่างกันไป ค่า SPF ที่สูงแสดงว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีได้มาก
กฎหมายของประชาคมยุโรป กำหนดให้ระบุค่า SPF ที่ฉลากเป็น 6, 10, 15, 20, 25, 30, 50 และ 50+ ชนิดและปริมาณของสารป้องกันแสงแดดที่มีในผลิตภัณฑ์ทำให้ค่า SPF ต่างกัน จากผลวิเคราะห์ปริมาณสารกันแดดในปี พ.ศ. 2550 รวม 66 ตัวอย่าง พบว่าไม่เข้ามาตรฐาน 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 9) ในจำนวนนี้มี 1 ตัวอย่างที่ตรวจไม่พบสารกันแดดตามที่ระบุที่ฉลาก
สรุปได้ว่าสารกันแดดที่ตรวจพบมากที่สุดคือ octyl methoxycinnamate (52 จาก 66 ตัวอย่าง) รองลงมาคือ butyl methoxydibenzoyl methane และ benzophenone-3 โดยตรวจพบปริมาณอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0-9.9, 0.4-3.0 และ 1.0-6.1 โดยน้ำหนัก (%w/w) ตามลำดับ ซึ่งสารทั้ง 3 ชนิด เป็นสารควบคุมตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 46) พ.ศ. 2550 และปริมาณที่ตรวจพบไม่เกินกฎหมายกำหนด คือ อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกินร้อยละ 10, 5 และ 10 โดยน้ำหนักตามลำดับ ทั้งนี้พบว่ามีการใช้สารกันแดดเพียงชนิดเดียวหรือใช้ร่วมกันกับสารกันแดดชนิดอื่น โดยพบสูตรตำรับที่ใช้สารกันแดดสูงสุดถึง 7 ชนิด ในสูตรตำรับเดียวกัน
ผู้บริโภคควรเลือกใช้เครื่องสำอางป้องกันแสงแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไปซึ่งจะป้องกันแสงแดดได้มากกว่า 90% ทั้งนี้ปริมาณสารกันแดดมากจะมีค่า SPF สูง ซึ่งอาจก่อให้เกิดการแพ้ระคายเคืองได้มาก ผู้ที่ผิวแพ้ง่ายหรือมีความไวต่อสารเคมีจึงควรทดสอบการแพ้ก่อน
นอกจากนี้เครื่องสำอางป้องกันแสงแดดควรเป็นชนิดทนน้ำ หรือทนเหงื่อ และควรทาก่อนออกแดดอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ได้ตามวัตถุประสงค์ คือ เพื่อการสะท้อนหรือดูดกลืนรังสียูวี ทั้งนี้ควรทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง เพื่อให้แน่ใจว่าปกคลุมผิวหนังได้ทั่วถึง ควรเลือกใช้รูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับชนิดของผิว เป็นครีม โลชั่น หรือเจล นอกจากนี้ควรสังเกตวันหมดอายุ โดยทั่วไปกำหนดอายุ 2-3 ปี และไม่เก็บไว้ในที่ร้อน