Store Categories

TOP5 Best Sellers


บริษัท เอเซีย แอนด์ แปซิฟิค คอสเมติคส์ จำกัด

Asia & Pacific Cosmetics Co., Ltd.         

                                                                                Since 1985




ครีมกันแดด



                                          ครีมกันแดด

      การได้รับแสงแดดมีทั้งประโยชน์และโทษที่เป็นอันตรายต่อผิวของมนุษย์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลา, ความเข้มของแสงแดด และความไวของผิวหนังต่อแสงแดด ประโยชน์จากการได้รับแสงแดด ทำให้มีผลดีต่อสุขภาพจิต (Psychologically) และสรีรวิทยาของร่างกาย (Physiologically) เพิ่มขึ้น ช่วยลดความดันโลหิต นอกจากนี้แสงแดดยังมีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคกระดูกอ่อนในเด็ก ทั้งยังช่วยในการรักษาโรคติดเชื้อ เช่น วัณโรค และโรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคเรื้อน

    ประโยชน์อีกประการหนึ่งของแสงแดด คือ หากได้รับครั้งละเล็กน้อยเป็นประจำจะทำให้เกิดการสร้างเมลานิน (melanin) เป็นเหตุให้เซลผิวหนังหนาขึ้น เป็นผลให้เกิดกลไกทางธรรมชาติในร่างกายมนุษย์ ป้องกันการเกิดผิวเกรียมแดด (sun burn)

     ส่วนโทษของการได้รับแสงแดด จะทำให้เกิดผื่นแดง (erythema, reddening) การแดงจะเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นผิวเกรียมแดด เพราะกลไกทางธรรมชาติในการสร้างสีผิวไม่สามารถต้านทานการดูดซึมแสงเข้าสู่ผิวได้ แต่ผลอันนี้เป็นผลในระยะสั้น เป็นการทำลายผิวชั้นนอกที่เกิดขึ้นชั่วคราว ส่วนผลในระยะยาว เนื่องจากการได้รับแสงบ่อยๆ เป็นเวลานานทำให้เป็นอันตรายต่อผิวหนัง รังสีที่แผ่กระจายจากดวงอาทิตย์ ประกอบด้วยแสงต่างๆ หลายชนิด คือ แสงอินฟราเรด (Infrared light) แสงที่มองเห็นได้ (Visible light) และแสงอุลตราไวโอเลต (Ultrariolet light) แสงที่มีผลต่อผิวมนุษย์มากที่สุด คือ แสงอุลตราไวโอเลต ซึ่งแบ่งตามช่วงความยาวคลื่นได้ 3 ช่วง คือ

       ยูวีเอ (UVA) หรือแสงอุลตราไวโอเลตช่วงยาว เป็นแสงในช่วงความยาวคลื่น 320 - 400 นาโนเมตร แสงช่วงนี้ทำให้เกิดผิวคล้ำแดด โดยกระตุ้นให้เกิดการสร้างเมลานิน แต่ไม่ทำให้เกิดการอักเสบ

        ยูวีบี (UVB) เป็นแสงในช่วงความยาวคลื่น 290 - 320 นาโนเมตร แสงในช่วงนี้ทำให้เกิดผิวเกรียมแดด และผิวหนังอักเสบ เป็นตัวหลักที่ทำให้ผิวแก่ก่อนวัย และทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้บ่อยขึ้น

       ยูวีซี (UVC) หรือแสงอุลตราไวโอเลตช่วงสั้น เป็นแสงในช่วงความยาวคลื่น 200 - 290 นาโนเมตร แสงในช่วงนี้โดยมากจะถูกดูดซับโดยก๊าซโอโซนในบรรยากาศ ฉะนั้น แสงอุลตราไวโอเลตที่มาถึงโลกจะอยู่ระหว่างช่วงความยาวคลื่น 290 - 400 นาโนเมตร คือ แสงช่วง ยูวีเอ และยูวีบี

      เนื่องจากแสงอุลตราไวโอเลตมีอันตรายต่อผิวหนังนี่เอง ทำให้ผลิตภัณฑ์ประเภทครีมกันแดดและครีมทำให้ผิวคล้ำ (Sunscreen and  Suntan Preparation)  เป็นสิ่งจำเป็นต่อผิวมนุษย์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการผลิตเพื่อจะป้องกันหรือลดอันตรายจากแสง หรือช่วยให้ผิวคล้ำแดด โดยไม่มีการอักเสบหรือปวดแสบร้อน นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันไม่ให้ผิวดูแก่ก่อนวัย

 

คุณสมบัติที่ดีของสารที่เป็นสารกันแดด

    สารกันแดด (sunscreen agents) หมายถึง การที่ดูดซึมแสงอุลตราไวโอเลต แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานแสงที่อยู่ในรูปซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง
    
        คุณสมบัติที่ดีของสารกันแดด คือ
      1. กรองแสงได้ทั้ง ยูวีเอ และยูวีบี อย่างน้อยควรกรองแสงช่วงยูวีบี คือช่วงความยาวคลื่น 290 - 320 นาโนเมตรได้
        2. ผ่านเข้าสู่ผิวหนังได้ง่าย
        3. จับกับผิวหนังได้ดี
        4. ไม่หลุดง่ายเมื่อถูกน้ำ
        5. ไม่ต้องทาบ่อย
        6. มีความคงตัวดี ไม่สลายง่าย
        7. ไม่เป็นสารที่มีพิษ
        8. ไม่ทำให้ผิวหนังเกิดอาการแพ้ (non-sensitized skin)
        9. ไม่ระเหยง่าย

     ปัจจุบันครีมกันแดด นิยมใส่สารที่มีคุณสมบัติเป็นสารที่ป้องกันการเกิดผิวเกรียมแดด และสารที่ทำให้ผิวคล้ำแดดไว้ด้วยกัน โดยใส่ในปริมาณความเข้มข้นต่างกัน เช่น ครีมกันแดดที่ใส่สาร octyl dimethyl PABA 7% และสาร oxybenzone 3% เนื่องจากการทดลองพบว่า ทำให้ได้ครีมกันแดดมีประสิทธิภาพในการป้องกันแดด (Sun Protective Factor หรือ SPF) เท่ากับ 15 ซึ่งจะป้องกันแสงอุลตราไวโอเลตในช่วง ยูวีบี ได้ทั้งหมด และหากใช้สม่ำเสมอก็จะป้องกันการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ ค่า SPF นี้ คือ จำนวนเท่าของเวลาที่ผิวทนต่อแสงอุลตราไวโอเลต หลังทาครีมกันแดดแล้ว เทียบกับเวลาของผิวที่ยังไม่ได้ทาครีมกันแดดจะทนได้ เช่น โดยปกติเราทนแสงแดดได้นาน 30 นาที แต่ภายหลังทาครีมกันแดด ที่มีค่า SPF จะทนได้นาน 30 * 15 นาที ซึ่งเท่ากับ 7 ชั่วโมงครึ่ง
      
     สารกันแดดที่มีค่า SPF สูง จะมีประสิทธิภาพในการกันแดดได้ดี ถ้ามีค่า SPF ต่ำ ก็จะมีประสิทธิภาพในการกันแดดได้น้อย เหมาะสำหรับในรายที่ต้องการให้ผิวคล้ำแดด การพิจารณาเลือกใช้ครีมกันแดดขึ้นอยู่กับชนิดของผิวหนังด้วย เช่น ในรายที่ผิวหนังไวต่อแสงแดด และเกิดผิวเกรียมแดดง่าย ต้องใช้ครีมที่มีค่า SPF สูง

 

ข้อดีและข้อแทรกซ้อนของการใช้ครีมกันแดด

       ข้อดีของการใช้ครีมนี้ นอกจากจะช่วยป้องกันอันตรายจากแสงอุลตราไวโอเลตต่อผิว และช่วยไม่ให้ผิวหนังดูแก่ก่อนวัยแล้ว ครีมกันแดดยังเป็นสิ่งจำเป็นมาก สำหรับผู้มีปัญหาเรื่องฝ้า เพราะจะมีผิวหน้าซึ่งไวต่อแสงอุลตราไวโอเลต การใช้ครีมกันแดด ควบคู่ไปกับครีมป้องกันฝ้า จะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น และเหมาะสมสำหรับผู้ที่เล่นกีฬากลางแจ้ง หรือมีอาชีพเป็นครูสอนกีฬา เทนนิส ว่ายน้ำ เป็นต้น

       ข้อแทรกซ้อนจากการใช้ครีมกันแดด ได้แก่ ผลข้างเคียงจากผิวหนังระคายเคือง (irritant dermatitis) ผิวหนังอักเสบจากพิษของสารเคมีร่วมกับแสงแดด (phototoxic dermatitis) และโรคแพ้โดยการสัมผัส (allergic contact dermatits) สารกันแดดพวกทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ PABA พบว่าทำให้ผิวหนังอักเสบแบบตุ่มน้ำ Glyceryl PABA ทำให้เกิดการแพ้โดยการสัมผัส ซึ่งภายหลังก็ไม่ใช้สารนี้ในครีมกันแดดแล้ว ที่สำคัญ คือ การแพ้สารกันแดดเป็นการแพ้เฉพาะรายไม่หมายความว่าจะต้องแพ้ทุกรายที่ใช้

      ดังนั้น เมื่อเริ่มใช้ครีมกันแดด ควรใช้ทาในปริมาณเล็กน้อยก่อนแล้วจึงค่อย เพิ่มปริมาณการใช้ หากมีอาการแพ้เกิดขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ผิวหนังให้แพทย์แก้ไข และแนะนำการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสภาพผิว โดยไม่มีผลข้างเคียงจากการใช้ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภท ครีมกันแดดมากที่สุด

 

สรุป

    ประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อน มีปริมารแสงอุลตราไวโอเลตมาก ความร้อนและรังสีเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยเป็นฝ้ามาก และหน้าเป็นดวงขาวๆ ซึ่งศัพท์ทางแพทย์เรียกว่า Pityrians ALBA (P.ALBA) สาเหตุเกิดจากความแห้งและแสงแดด จะเป็นกันมากหน้าร้อน ทางป้องกันที่ดีนอกจากหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งแล้ว คือ การใช้ครีมกันแดด หากไม่แน่ใจเกี่ยวกับช่วงความยาวคลื่น ก็ควรใช้ครีมกันแดดซึ่งป้องกันทั้งแสงในช่วงยูวีเอและยูวีบี ครีมนี้ใช้ได้ทุกโอกาส โดยเฉพาะครีมกันแดด ที่มีส่วนผสมของ octyldimethyl PABA และ oxybenzone สารทั้งสองนี้มีคุณสมบัติติดผิวดีและกันแสงได้หลายช่วง สามารถทนต่อเหงื่อและไม่หลุดง่ายเมื่อว่ายน้ำ ยิ่งถ้าทาทิ้งไว้ 2 ชั่วโมง แล้วจึงไปเผชิญกับแสงแดด จะได้ผลในการป้องกันดีมาก 

   การทาครีมกันแดดให้ได้ผลดีที่สุดควรทาทุกวัน แม้จะไม่ออกจากบ้าน ถ้าเหงื่อออกมาก หรือล้างหน้า หรือเล่นน้ำก่อน 17.00 น. ควรทาครีมกันแดดซ้ำใหม่

 

เอกสารอ้างอิง

 1) Wilkinson, J.B. ; Moore, R.J: 7th edition 1982. Sunscreen, Suntan and Anti-sunburn Preparations. Harry's Cosmeticology : George Godwin London. p. 222-242.
      
2) Johnson, B.E. Changes in sunburn and mechanism of protection. Journal of Society of Cosmetic Chemists of Japan 978, 29 : 32-44
      
3) Balsam, M.S ; Sagarin Edward 2th edition 1927. Suntan Preparations Kreps Saual I ; Goldemberg Robert L. Cosmetics Science and Technology : United States of America. p. 254-256
      
4) ข่าวกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 รังสี ultraviolet กับมะเร็งผิวหนัง Chemical & Engineering news, Novenber 24, 1986.
      
5) Fitzpatrick TB ; Pathak Ma and Parrish J.A. Protection of the human skin against the effects of the sunburn UV (290-320 nm) In : Sunlight and man. Normal and abnormal photobiologic response. Pathak MA. Harber LC, Seije N et al (eds). University of Tokyo Press, Tokyo. 1970 : 751.
      
6) Blum, H.F. and Kirby Smith, J.S., Science, 1942, 96, 203.
      
7) Parrish JA ; White MB and Pathak MA, Photomedicine In : Dermatology in General Medicine. Fitzpatrick TB, Eisen AZ, Woff K, Freedberg IM, Austen KF. (2nd ed.), 1979 : 984.
      
8) Nater, J.P. ; De Groot A.C. 1983 Sun and Solaria Cosmetics. Unwanted Effects of Cosmetics and Drugs Used in Dermatology.
      
9) สุวรรณประกร พิชิต พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2528. Depigmenting agents & Sunscreens. ตำรายาและวิธีการรักษาโรคผิวหนัง : บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด กรุงเทพมหานคร หน้า 195-202.
      
10) Shaath, Nadim A. Edcyclopedia of UV Absorbers for Sunscreen Products. Cosmetics & Toiletries 1987, 102 : 21-36.

http://webdb.dmsc.moph.go.th/cosmetic/content1.asp?info_id=5

 

 



ผลิตและจัดจำหน่าย โดย


บริษัท เอเซีย แอนด์ แปซิฟิค คอสเมติคส์ จำกัด
Asia & Pacific Cosmetics Co., Ltd
.

7 ซอยติวานนท์ 18 (ปิ่นประภาคม 1) ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000     
7 Soi Tiwanon 18 (Pinprapakom 1), Talat Khwan, Muang Nontaburi, Nonthaburi 11000

Tel : 089-128-3951, 02-591-1224

E-mail : webmaster@chinvan.com                       Web site : www.chinvan.com

                                   
                                       
Copyright © 2012 Chinvan Co., Ltd.