วิตามินอี และอนุพันธ์ของวิตามินอีกับผิว
วิตามินและการมีสุขภาพดีเป็นที่กล่าวกันมานาน ส่วนวิตามินกับเรื่องความสวยงามมีการศึกษาวิจัยและมีหลักฐานที่ชัดเจนว่า การใช้วิตามินในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยป้องกันและซ่อมแซมการสึกหรอของเส้นผม ผิว และเล็บได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินช่วยป้องกัน ช่วยยืดเวลาและยับยั้งการเสื่อมสภาพของผิว ช่วยชลอความแก่ ช่วยลดการเกิดริ้วรอยตีนกา
วิตามินที่เป็นส่วนผสมในครีมและโลชั่นทาผิวจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นในการบำรุงผิว ซึ่งเป็คุณสมบัติตามธรรมชาติของวิตามินเอง วิตามินที่เป็นที่นิยมใช้กันมากในเครื่องสำอางได้แก่ วิตามินอี , เอ, ซี, แพนทีนอล(Provitamin B5) และอนุพันธ์ของแพทีนอล วิตามินที่กล่าวมานี้ มีคุณสมบัติแทรกซึมลงไปในผิวหนัง แพนทีนอลและวิตามินอีจะแทรกซึมลงไปในเส้นผมและเล็บได้ เมื่อใช้ในปริมาณที่พอเหมาะและมีความปลอดภัยสูง ไม่มีผลข้างเคียงจากการใช้
ในเรื่องของผิววิตามินอี จะมีบทบาทและคุณสมบัติหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อผิว จึงเป็นที่นิยมใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง จากการศึกษาอย่างกว้างขวาง สรุปผลว่า วิตามินอี นอกจากจะเป็นสารบำรุงทำให้ผิวชุ่มชื้นแล้ว ในรูปของเอสเตอร์จะช่วยลดการอักเสบของผิวและช่วยป้องกันอันตรายที่เกิด จากรังสีอุลตร้าไวโอเล็ต ในธรรมชาติวิตามินอีจะอยู่ในรูป tocopherol โดยตำแหน่ง อัลฟ่า tocopherol จะให้คุณสมบัติทางชีววิทยาสูงสุด คือมีประสิทธิภาพสูงสุด วิตามินอีในรูปที่ไม่ได้เป็นเอสเตอร์ จะพบใน wheat germ oil และน้ำมันจากพืชอื่น ๆ และมีคุณสมบัติเป็น antioxidant วิตามินอีในรูปของวิตามินอีอะซีเตต มีคุณสมบัติดีที่สุดในการรักษาอาการขาดวิตามินอีโดยการกิน ทั้งนี้เพราะวิตามินอีอะซีเตต มีความคงสภาพต่อการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นได้ดีกว่าวิตามินอีแบบอิสระ ในทางเครื่องสำอางวิตามินอีนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ทั้งรูปที่เป็นแอลกอฮอล์ และอะซีเตต วิตามินอีอะซีเตตในปริมาณสูงจะพบบริเวณชั้น stratum corneum และบริเวณชั้นของผิวหนัง สำหรับเส้นผมวิตามินอีจะถูกดูดซึมโดยตรงบริเวณ hair cortex
วิตามินอี และอนุัพันธ์ของวิตามินอี มีคุณสมบัติ antioxidant ซึ่งจะไป neutralized การเกิด free radicals โดยการไปเพิ่ม electrons ใน cell membranes ดังนั้นวิตามินอีเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลรักษาผิว มีการศึกษาวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าวิตามินอี ช่วยลด psoriasis erythema และช่วยลดการเสี่ยงการเกิดมะเร็งผิวหนัง ช่วยรักษาแผลเป็น และช่วยลดริ้วรอยบนผิว
นอกจากนี้อนุพันธ์ของวิตามินอี เช่น alpha tocopherol acetate มีคุณสมบัติในการเกิด free radical ซึ่งจะไปทำลาย DNA ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวทั้งครีมและโลชั่นบำรุงผิว จะนิยมใช้ alpha tocopherol acetate มากกว่าส่วนผสมของ alpha tocopherol, beta tocopherol, gamma tocopherol และ delta tocopherol ซึ่งส่วนผสมของอนุพันธ์ tocopherol ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น โลชั่นบำรุงผิวจะใช้ร่วมกับวิตามินอีในระดับความเข้มข้นสูงตั้งแต่ 5% ขึ้นไป
การศึกษาทาง ด้านคลีนิก ( Vitamin E clinical Studied) พบว่าในการใช้วิตามินอีสามารถดูดซึมทางผิวหนังโดยไม่ต้องถูกเปลี่ยนเป็น free alpha tocopherol ในการศึกษาประสิทธิภาพของครีมที่มีส่วนผสมของวิตามินอีในผู้หญิงจำนวน 20 คน อายุระหว่าง 42-64 ปี พบว่า ครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ทดสอบที่ใช้ครีมมีส่วนผสมของวิตามินอี ทาบริเวณ eyelid เทียบกับครีมที่ไม่มีส่วนผสมของวิตามินอี พบว่าช่วยทำให้ผิวเรียบและลดริ้วรอย
วิตามินอีจำแนกตามคุณสมบัติได้ดังนี้
1. การเป็นสาร antioxidant วิตามินอีเป็นสาร antioxidant ได้เพราะสามารถยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของ lipid ชนิดไม่อิ่มตัว (lipid peroxides) ในผิวหนังได้ ทั้งนี้เพราะเยื่อบุเซลล์ (cell membrane) ประกอบด้วย phospholipid ซึ่งส่วนใหญ่เป็น lipid ชนิดไม่อิ่มตัวสามารถเกิด lipid peroxides ได้ และมีผลต่อความแก่ก่อนวัยของผิว เมื่อเกิดปฏิกิริยา lipid peroxides จะได้ malondialdehyde (MDA) ซึ่ง MDA จะทำปฏิกิริยา cross-link กับสารคอลลาเจน ทำให้ปริมาณ soluble collagen ลดลง และ insoluble collagen เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความยืดหยุ่นของผิวลดลง จากการทดลองในหนูไม่มีขน (hairless mice) พบว่ามิตาวิตามินอีอะซีเตต ในปริมาณ 5% จะช่วยลดการเกิด MDA ลงไป 40-80% ต่อมามีการทดลองในคน ผลการทดลองสนับสนุนคุณสมบัติวิตามินอีและอนุพันธ์ของวิตามินอี ว่าสามารถช่วยลดความชราภาพของผิว เนื่องจากป้องกันการเกิด free radical และยับยั้งการเกิด lipid peroxidation ให้ลดลง วิตามินอีจึงมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการเกิด free radical และยับยั้งการเกิด lipid peroxide
2. การชลอความชราภาพของผิว เป็นที่ทราบกันว่า free radical มีผลต่อความชราภาพของผิว เพราะจะทำให้มีการทำลายเซลล์และทำให้เซลล์ตาย การออกกำลังกายที่มากเกินไปและความเครียดทำให้มี free radical เกิดขึ้นในขณะที่ปริมาณออกซิเจนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ free radical ยังเกิดจากเอ็นไซม์ต่าง ๆ ได้ เช่น superoxide dimutase และ catalase วิตามินอีช่วยชลอความชราภาพของผิว จากการทดลองพบว่า วิตามินอี ในปริมาณ 5% เมื่อทาบนผิวจะช่วยลดปริมาณเอ็นไซม์ ornitine dicarboxylase บนผิว ซึ่งจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อผิวโดนแสง UV ได้ถึง 91% วิตามินอีช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของผิวโดยมีผลต่อ elastic fiber ในผิวชั้น dermis และ connective tissue collagen เนื่องจากวิตามินอี ไม่สามารถซึมซับไปได้ถึง subepidermis tissue ดังนั้นการใช้วิตามินอี จะได้ผลดีถ้ามีการรับประทานร่วมด้วย
3. การป้องกันแสงอุลตร้าไวโอเลต แสงแดดเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผิวแก่ก่อนวัย มีการทดลองในผิวสัตว์ทดลองพบว่าแสง UV-B ( ความยาวคลื่น 220-320 นาโนเมตร) เป็นตัวทำให้เกิด free radical ในผิวหนังสัตว์ทดลอง แต่ถ้ามีการทาวิตามินอีอะซีเตต ในผิวของหนูไม่มีขน ก่อนจะฉายแสงอุลตร้าไวโอเลตในช่วง UV-B พบว่าวิตามินอีอะซีเตต ช่วยลดอาการแดงได้ 40-55 % จากการดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอน พบว่า ผิวที่ทาวิตามินอีอะซีเตตก่อนการฉายแสงอุลตร้าไวโอเลตในช่วง UV-B จะมีการป้องกันเซลล์ผิวชั้นนอก และช่วยป้องกันการอักเสบด้วย โดยสรุป วิตามินอีอะซีเตต สามารถยับยั้งกลไกการเกิด free radical เนื่องจากการได้รับแสง UV-B
4. การให้ความชุ่มชื้นกับผิว ปัจจัยที่มีผลสำคัญที่สุดต่อความชราภาพของผิวคือ ผิวแห้ง และการขาดสมดุลย์หรือเกิดความบกพร่องของความสามารถในการอุ้มน้ำของ Stratum corneum ในชั้นผิวหนังจะทำให้สูญเสียน้ำและแห้ง จากการศึกษาคุณสมบัติการให้ความชุ่มชื้นกับผิว โดยใช้วิตามินอีอะซีเตต ในรูปของอีมัลชั่นที่ความเข้มข้น 1,2.5 และ 5% ทาบนผิวและวัดค่าการสูญเสียน้ำ (transepidermal water loss, TEWL) พบว่าวิตามินอีอะซีเตตที่ความเข้มข้น 1.0 และ 2.5% จะไม่ค่อยเห็นผลเท่าไรนัก แต่ที่ความเข้มข้น 5.0% จะลดการสูญเสียน้ำได้ 19% หลังการทา 3 นาที และ 24% หลังการทาต่อเนื่องกัน 4 วัน ซึ่งประสิทธิภาพของวิตามินอีอะซีเตตจะเพิ่มขึ้นหากทาซ้ำและทาบ่อย ๆ
5. การดูแลและปรับสภาพเส้นผม อนุพันธ์ของวิตามินอีซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดที่นิยมใช้เป็นส่วนผสมใน ผลิตภัณฑ์ดูแลปรับสภาพผม คือ วิตามินแพนทีนอล (Panthenol) ซึ่งมีคุณสมบัติดีมากในการให้ความชุ่มชื้นบนเส้นผมและหนังศีรษะ จะคงอยู่บนเส้นผมและหนังศีรษะได้เป็นเวลานาน ต่อมาได้มีการศึกษาซึ่งชี้ให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าวิตามินอื่นๆ และอนุพันธ์เหล่านั้น นอกเหนือจากแพนทีนอล มีบทบาทสำคัญในการดูแลและป้องกันเส้นผม หนังศีรษะไม่ให้ถูกทำลายโดยความร้อน ความแห้ง การดัดหรือย้อมผม เส้นผมต้องสัมผัสกับสารเคมี จากการทดลอง ใช้แชมพูและครีมนวดผม ที่มีส่วนผสมของวิตามินอีอะซีเตต 1% สระผมที่ไม่เคยดัดหรือย้อมมาก่อน และประเมินผลความสามารถในการติดค้างบนเส้นผมและการแทรกซึมไปในเส้นผม พบว่า มีการติดอยู่บนเส้นผมและหนังศีรษะได้นาน หลังจากการใช้ติดต่อกัน 5 ครั้ง
6. การช่วยลดการอักเสบ วิตามินอี สามารถลดและบรรเทาการอักเสบได้ นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการระเคืองต่อผิว อาการแพ้รวมกับการอักเสบและการคันด้วย อนุพันธ์วิตามินอีใหม่ ๆ ที่น่าสนใจนอกเหนือจากวิตามินอีอะซีเตตได้แก่ วิตามินอีลิโนลีเอท (Vitamin E Linoleate) และวิตามินอีนิโคติเนท(Vitamin E Nicotinate) วิตามินอีลิโนลีเอท สามารถแทรกซึมลงไปได้ถึงเซลล์ผิวหนังชั้น stratum corneum ช่วยรักษาระดับน้ำ ในเซลล์ ทำให้ผิวชุ่มชื้น มีคุณสมบัติเป็นตัวให้ความชุ่มชื่นผิวได้ระยะเวลานาน ทั้งนี้ เพราะมีการสะสมวิตามินอีลิโนลีเอท ในชั้น stratum corneum และส่วนบนของชั้นepidermis สำหรับวิตามินอีนิโคติเนทจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต(microcirculation) ช่วยทำให้สภาพผิวดีขึ้น
จะเห็นว่าวิตามินอี โดยเฉพาะอีอะซีเตตมีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันผิวและช่วยบำรุงรักษาผิว การใช้วิตามินอีและวิตามินอีอะซีเตตเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางจะได้ผลดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปริมาณวิตามินอีหรือวิตามินอีอะซีเตต ที่ผสมอยู่ในเครื่องสำอาง ปริมาณวิตามินอีอะซีเตตที่ใช้เป็นส่วนผสมในครีมบำรุงผิว ครีมกันแดด และครีมปรับสภาพเส้นผมจะต้องมีปริมาณความเข้มข้นที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่
ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัย พบว่าปริมาณวิตามินอีอะซีเตตควรมีปริมาณ 5% ในครีมบำรุงผิว 1% ในครีมปรับสภาพเส้นผม จึงจะให้ผลในการใช้ ดังนั้นผู้บริโภคที่ใช้เครื่องสำอางดังกล่าวควรพิจารณาเลือกซื้อเครื่อง สำอางที่ระบุปริมาณวิตามินอี และวิตามินอีอะซีเตตบนฉลากเพื่อจะได้ประโยชน์อย่างสูงที่สุดจากการใช้ อย่างไรก็ตามการใช้วิตามินอี ถ้าจะให้ได้ผลดีก็ควรต้องใช้ร่วมกับการรับประทาน โดยการควบคุมของแพทย์อย่างใกล้ชิด
เอกสารอ้างอิง
1. Idson, B. 1993 Vitamins and the Skin. Cosmetics & Toiletries. 108: 79-93.
2. รศ. ดร. อรัญญา มโนสร้อย. 2533. สารใหม่และวิทยาการใหม่เครื่องสำอาง ภาควิชาเทคโนโลยี เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หน้า 147-156.
3. http://www.rxlist.com/rxboard/ultram.pl?noframes;read=1551
4. http://webdb.dmsc.moph.go.th/cosmetic/content1.asp?info_id=16